“ส่งออกอ่วม แบกรับปัญหาเงินบาทแข็งค่า แต่ยังเชื่อมั่นส่งออกไทยปี 67
“ส่งออกอ่วม แบกรับปัญหาเงินบาทแข็งค่า แต่ยังเชื่อมั่นส่งออกไทยปี 67
“ส่งออกอ่วม แบกรับปัญหาเงินบาทแข็งค่า แต่ยังเชื่อมั่นส่งออกไทยปี 67 โตไม่น้อยกว่า 2%”
ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับนายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร ระบุว่าภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนสิงหาคม 2567 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 26,182.3 ขยายตัวร้อยละ 7.0 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 939,521 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.0 (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนสิงหาคมขยายตัวร้อยละ 6.6) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,917.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.9 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 941,019 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.0 ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2567 เกินดุลเท่ากับ 264.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดดุลในรูปของเงินบาท 1,497 ล้านบาท
ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – สิงหาคม ของปี 2567 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 197,192.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.2 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 7,068,821 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.9 (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม - สิงหาคม ขยายตัวร้อยละ 4.3) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 203,543.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.0 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 7,378,253 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.5 ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม - สิงหาคม 2567 ขาดดุลเท่ากับ 6,351.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขาดดุลในรูปเงินบาท 309,432 ล้านบาท
อนึ่ง สรท.คาดการณ์การส่งออกปี 2567 เติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 (ณ ตุลาคม 2567) โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังในโค้งสุดท้ายของปี ได้แก่ 1) ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลโดยตรงต่อการส่งออก เนื่องจากขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง ประกอบกับ ผู้ประกอบการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ส่งผลต่อสภาพคล่องทางธุรกิจต่อเนื่อง 2) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ยังคงคาดการณ์ยาก 2.1) สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางยังคงยืดเยื้อ 2.2) จับตาการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจส่งผลต่อการแบ่งขั้วอย่างชัดเจน และมีผลกระทบให้ซัพพลายเชนทั่วโลกเกิดความผันผวน 2.3) สหรัฐฯ เริ่มมาตรการ safeguard 27 กันยายน ที่ผ่านมากับสินค้ารถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน แผงโซลาร์เซลล์ ขณะที่ปี 2568 เริ่มมาตรการดังกล่าวกับสินค้าถุงมือยาง ชิพ และอื่นๆ ส่งผลให้จีนต้องเร่งกระจายสินค้าไปยังตลาดใหม่และตลาดเอเชียที่ยังมีศักยภาพ 3) ดัชนีภาคการผลิต หรือ Manufacturing PMI หดตัวต่อเนื่อง แม้ยังคงมี Demand อยู่ 4) ปัญหาการขนส่งสินค้าทางทะเล ค่าระวางเรือยังคงเริ่มมีการปรับลดลงมาในหลายเส้นทางสำคัญ แต่เป็นการปรับลดลงจากที่ปรับขึ้นไปสูงก่อนหน้านี้จากสถานการณ์ปัญหาทะเลแดง ยกเว้นเส้นทางสหรัฐอเมริกาจากปัญหาการ Strike ของคนงานท่าเทียบเรือฝั่งตะวันออกและตะวันตกส่งผลให้เรือล่าช้า และ 5) ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบมากและส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนวัตถุดิบและปริมาณสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดไม่เพียงพอในระยะถัดไป
ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้ 1) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป พร้อมทั้ง สนับสนุนเครื่องมือและค่าธรรมเนียมในการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ 2) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 3) พิจารณาทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไม่ให้เป็นภาระกับผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มากเกินไป และ 4) เร่งรัดการเจรจาการค้าและความร่วมมือทางการค้าใหม่ๆ ทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศคู่ค้านั้นๆ.
01 ตุลาคม 2567
ผู้ชม 34 ครั้ง