เชียร์ยูโร 2024 กับ ซัพพลายเชน ........... โดย สุวัฒน์ จรรยาพูน
เชียร์ยูโร 2024 กับ ซัพพลายเชน ........... โดย สุวัฒน์ จรรยาพูน
เชียร์ยูโร 2024 กับ ซัพพลายเชน
สุวัฒน์ จรรยาพูน
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน
วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม
เชียร์ยูโร ... เชียร์ยูโร ... เทศกาลฟุตบอลยุโรปเวียนมาให้นอนดึก-เช้า กันถ้วนหน้ากับคอบอลทั้งหลาย ซึ่งพอผมดูการแข่งขันฟุตบอลทีไร ผมต้องนึกถึงลูกพี่ผม ผศ.ดร.วิทยา สุหฤทดำรง ที่มักจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพแบบเข้าใจง่ายในการทำงานของซัพพลายเชนกับเกมฟุตบอล ทีมที่ดีจะต้องผ่านคัดเลือกผู้เล่นให้เหมาะสมกับตำแหน่ง มีการวางแผน มีการซักซ้อม มีทีมสตาฟโค้ช มีทีมสนับสนุน ทุกคนทำงานร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งแตกต่างกับการเล่นฟุตบอลแบบมวยวัด ที่ต่างคนต่างวิ่งไล่ฟุตบอล แย่งกันเพื่อยิงประตู ลูกบอลอยู่ตรงไหน ก็กรูกันเข้าไป ไม่มีระบบ เล่นกันเหนื่อยและไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับธุรกิจที่ไม่ร่วมกันทำงานแบบซัพพลายเชน
ฟุตบอลกับซัพพลายเชนก็เหมือนๆ กัน เป้าหมายคือทำประตูฝั่งตรงข้ามให้มากกว่าการเสียประตูถือเป็นผู้ชนะ เท่ากันในเวลาถือว่าเสมอ หากต้องการหาผู้ชนะให้ได้ก็มีกฎเพิ่มขึ้นอย่างเช่น การต่อเวลา การยิงจุดโทษ เป็นแบบนี้มาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งเป้าหมายนี้ก็เป็นสากลใช้กันในทุกการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งลีกฟุตบอลอาชีพ ไปจนถึงสมัครเล่น รวมถึงการแข่งกันเล่น ๆ ระหว่างเพื่อนพ้องน้องพี่ นอกจากนี้ส่วนประกอบอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องมีในเกม ไม่ว่าจะเป็น สนาม ลูกฟุตบอล ประตู จำนวนผู้เล่น แต่สภาพจะเป็นอย่างไรขึ้นกับงบประมาณและสถานการณ์ โดยมีมาตรฐานสากลเป็นบรรทัดฐาน ถ้าจะแข่งขันกันจริงจังกติกาอุปกรณ์ก็เข้าใกล้มาตรฐานสากล แต่ถ้าแข่งกันเล่น ๆ ตรงไหนก็เล่นได้ครับ ผมยังเคยเล่นบอลพลาสติกกับเพื่อน ๆ ตรงลานปรีดี ที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เป็นพื้นปูนไม่เรียบ มีต้นไม้ใหญ่ มีถังขยะ มีโต๊ะเก้าอี้สนาม เขตประตูก็ใช้รองเท้าวาง เขตสนามไม่มี กรรมการไม่จำเป็น ก็ยังเล่นกันสนุกได้เลยครับ แต่ไม่ทราบว่ามีคนดูหรือเปล่า เพราะเล่นกันเอง
ส่วนกติกาอื่นจะใช้อย่างไรก็มีการปรับเปลี่ยนมาตามยุคสมัย เพื่อให้เกมการแข่งขันสนุกสนานมากขึ้น อย่างเช่นยุคของ เปเล่ ก็ยังไม่มีเรื่องของการล้ำหน้า หรือหลังยุคที่เดนมาร์กเป็นแชมป์ยูโรที่ชนะเยอรมัน ปี 1992 ก็เกิดกติกาห้ามผู้เล่นที่เป็นประตูใช้มือรับฟุตบอลหากทีมเดียวกันส่งให้ (โดยตั้งใจ) ต้องใช้เท้าเล่นเท่านั้น ซึ่งกติกาต่าง ๆ กำหนดขึ้นเพื่อให้เกมฟุตบอลไม่น่าเบื่อ และมีสีสัน ถือเป็นการเอนเตอร์เทนคนดู เพราะหากขาดคนดูก็มีคนสนุกแค่ 2 ทีม และคงไม่ต่างอะไรกับการเล่นเพื่อสุขภาพ แต่เกมฟุตบอลอาชีพจึงต้องการมหาชนในการเข้าชม เพราะหมายถึงรายได้/ผลประโยชน์จำนวนมาก การปรับเปลี่ยนเพื่อเอาใจผู้ชมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และหากสิ่งใดขัดแย้งกับคนดูก็ย่อมมีการทบทวน ซัพพลายเชนก็ต้องเอนเตอร์เทนลูกค้าเช่นกัน
เราเห็นซัพพลายเชนอย่างเป็นระบบในเกมฟุตบอล ทีมที่เล่นอย่างไหลลื่นคนดูก็สนุก ไม่แตกต่างจากการไหลในซัพพลายเชน ทีมที่ขาดการไหลอย่างต่อเนื่อง มักจะเป็นฝ่ายแพ้ หรือหากชนะคนดูก็ไม่สนุก สไตล์การเล่นแบบ Tiki-Taka ที่พัฒนาจาก Total Football ของฮอลแลนด์ ก็พาสเปนเป็นแชมป์ยุโรป (2008) แชมป์โลก (2010) และป้องกันแชมป์ยุโรป (2012) ที่ต่อบอลสั้น แม่นยำ ช่วยกันเล่นทั้งทีม เมื่อได้บอลจะมีผู้เล่นอยู่ใกล้ๆ 2 คน เป็นรูปเป็นรูปสามเหลี่ยมเพื่อสนับสนุนคนที่ครองบอลอยู่ ทำให้คู่แข่งแย่งบอลยาก เมื่อใกล้เสียบอลก็มีทางเลือก 2 ทางในการส่งต่อให้เพื่อน ทำให้ฟุตบอลแบบเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยผู้เล่นหมายเลข 10 คอยลากเลื้อย เริ่มดูไม่สนุก และไม่สวยงาม
แต่เมื่อผู้เล่นขาดสมดุลและหาทดแทนไม่ลงตัว ฟุตบอลระบบอย่างเยอรมันก็กลับมาอีกครั้ง ผู้รักษาประตูเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ใช้เท้าเล่นได้ดีและกลายเป็นกองหลังตัวสุดท้าย เพื่อความไหลลื่นและได้เปรียบของเกมบุก รูปแบบการเล่นเกมรับและรุกถูกจัดเตรียมและซักซ้อมกันจนชำนาญ กองหลังซ้าย ขวา ปรับเปลี่ยนเป็นปีกยกขึ้นไปเปิดบอลช่วยเกมรุก และปีกสองข้างหุบเข้าไปช่วยกองหน้า เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าทำประตู และสร้างความสับสนพะวักพะวงให้กองหลังของคู่แข่ง ที่สำคัญหลังจากการเป็นแชมป์โลกของเยอรมันในปี 2014 ก็จะพบว่าเบื้องหลังมากกว่าสิบปีที่เยอรมันใช้ข้อมูล สถิติ และการวิเคราะห์ เพื่อใช้ในการสร้างทีม และการซักซ้อม
สถิติในสนามของผู้เล่นทั้งในและนอกสนามถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์เกมทั้งของตนเองและคู่แข่งขัน รวมไปถึงเริ่มมาเปิดเผยให้ผู้ชมรับทราบข้อมูลระหว่างเกมด้วย ซึ่งในสมัยก่อนผมเคยเห็นระบบการใช้ข้อมูลในเกมของอเมริกันฟุตบอล แต่ในเกมฟุตบอลไม่ค่อยบอกคนดูเท่าไร เพิ่งมีในยุคหลังๆ และในกีฬาหลายๆ ประเภท ที่ขึ้นสถิติระหว่างเกม ซึ่งทำให้เกมดูสนุกมากขึ้น ผู้ชมมีส่วนร่วม และวิเคราะห์บอลได้อย่างมีอรรถรส เราจะได้เห็นสัดส่วนการครองบอล จำนวนครั้งที่ยิงประตู เข้ากรอบกี่ครั้ง ไม่เข้ากรอบกี่ครั้ง ก่อนยิงจุดโทษก็มีสถิติของประตูว่าชอบพุ่งไปทางไหน และของผู้ยิงประตูว่าชอบยิงไปตรงไหน ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปยังผู้รักษาประตู และผู้ยิงประตู เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเดาใจฝั่งตรงข้าม เรียกได้ว่าเป็นการใช้การวิเคราะห์ข้อมูลไม่ใช่แค่ระดับของการวินิจฉัย แต่เป็นถึงระดับการคาดการณ์และให้คำแนะนำแบบเรียลไทม์
ในยูโร 2024 จะพบรูปแบบการเล่นที่ดุดัน วิ่งไล่กดดันคู่แข่งทั้งสนามตั้งแต่แดนหน้า ไม่ปล่อยให้คู่แข่งได้หายใจ ซึ่งผู้เล่นต้องใช้พละกำลังมหาศาล วิ่งไล่ไม่มีหยุดตลอดทั้งเกม มีแผนการเล่นหลายหลาย ทีมนำก็ยังไม่ผ่อน ยังคงทำประตูแบบต่อเนื่อง หากเสียประตูก็กดดันอย่างหนักจนทวงประตูได้คืนและแซงนำ เป็นการเอนเตอร์เทนคนดูแบบสุดๆ ไม่เหมือนทีมอิตาลีสมัยก่อนที่เน้นเกมรับ หากนำคู่แข่งก็จะเน้นเกมรับอย่างแน่นหนา รอจังหวะสวนกลับ ซึ่งเป็นเกมน่าเบื่อ ยุคก่อนผมดูอิตาลีทีไรหลับทุกที เหมือนดูทีมอังกฤษในรอบแรกของปีนี้ที่หลับทุกนัด การวิ่งไล่กดดันแบบไม่มีหยุด ทำให้เห็นภาพว่าทีมหลังบ้านในฟุตบอลปัจจุบันนั้นสำคัญขนาดไหน การวิเคราะห์ข้อมูล การฝึกซ้อม การโภชนาการ วิทยาศาสตร์การกีฬา การนวดคลายกล้ามเนื้อ ฯลฯ ต้องสอดรับกัน รวมไปถึงการฝึกฝนและสร้างทีมตั้งแต่เยาวชน ที่ทำให้ฟุตบอลเป็นระบบ และต่อเนื่อง หากกลไกใดขาดหายไป ความสำเร็จของทีมก็หยุดชะงัก และถูกท้าทายจากทีมอื่น
การใช้ข้อมูลก็ช่วยให้สามารถกุมความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ทีมวิเคราะห์ข้อมูลหลังบ้านจึงเข้ามามีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในซัพพลายเชนยุคปัจจุบันหากจะต้องการมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งก็จำเป็นต้องรู้จักการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ ที่รู้ว่าต้องแบ่งปันข้อมูลอะไร ในจังหวะเวลาไหน และเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ซัพพลายเชนแบบเดิมต้องปรับตัวเป็น ดิจิตอลซัพพลายเชน SCOR เดิมของซัพพลายเชนก็ต้องเป็น Digital SCOR ซึ่งหากสนใจติดตามเฟสบุ๊คของ ผศ.ดร.วิทยา ลูกพี่ผมได้ครับ ที่ถอดเนื้อหาของ SCOR v.14 ได้อย่างสนุกและเข้าใจง่าย
การวิเคราะห์ข้อมูลก็หลีกไม่พ้นการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบัน AI และ Machine Learning ก็เข้ามาสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ได่เป็นอย่างดี ฟุตบอลยูโร 2024 มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาสร้างความโปร่งใสในเกม และผมว่าไม่เสียอรรถรสในการชมเท่าไรนัก กลับจะดูสนุกไปอีกแบบ เทคโนโลยี VAR ถูกเอามาใช้พร้อมอุปกรณ์อย่างอื่น เพื่อความชัดเจนมากขึ้น การล้ำหน้าของพรีเมียร์ลีกที่ผ่านมาถูกมองว่าขึ้นกับผู้ตัดสิน VAR จะกำหนดจุดที่บอลออกจากเท้าและการลากเส้น ซึ่งหลายครั้งเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยต่อการตัดสิน แต่ในยูโร 2024 มีการฝังชิปในลูกฟุตบอล เพื่อตรวจจับการสั่นสะเทือน วินาทีที่ฟุตบอลจับการสั่นสะเทือนได้คือจุดที่เท้าสัมผัสบอลก็สามารถลากเส้นล้ำหน้าได้แม่นยำ และภาพ VAR ที่ผู้ตัดสินเห็น ก็จะเห็นพร้อมคนดูในสนาม เทคโนโลยีแบบนี้ทำให้ผู้เล่นเล่นนอกเกมก็ทำได้ยากขึ้น เหมือนขโมยที่กลัวกล้องวงจรปิด
ฟุตบอลสมัยใหม่มีการใช้ข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่างจากธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลในการสร้างความได้เปรียบ องค์กรที่ไม่ปรับเปลี่ยนตนเอง และละเลยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน ก็จะล้มหายไป ผมเคยถามลูกพี่ผมในวงเสวนา Roundtable ที่จัดออนไลน์ทุกวันอังคาร ว่า SMEs ที่ปรับตัวเป็น Digital ไม่ได้ ขาดแคลนกำลังคน ขาดแคลนทุนทรัพย์ ขาดองค์ความรู้ จะทำอย่างไร คำตอบคือ ทำอะไรไม่ได้ครับ คงต้องปล่อยไปตามกรรม และอาจถึงสิ้นชาติก็เป็นได้ เพราะองค์กรต่างชาติก็พร้อมที่จะเข้ามากลีนกิน หากธุรกิจไม่มุ่งเข้าสู่ยุค Digital ก็คือการไม่ยอมปรับตัว ก็แสดงว่าเขายอมรับความพ่ายแพ้ตั้งแต่ก่อนแข่งขันแล้ว ก็ฝากดูฟุตบอลในยุค Digital ให้สนุกนะครับ
02 กรกฎาคม 2567
ผู้ชม 3943 ครั้ง