โดรน...โอกาสและความท้าทาย ในงานตรวจนับสต๊อคในคลังสินค้า

หมวดหมู่: LOGISTICS

โดรน...โอกาสและความท้าทาย

ในงานตรวจนับสต๊อคในคลังสินค้า

ดร.เกียรติพงษ์ สันตะบุตร

สมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต

การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในงานคลังสินค้ามีปรากฏให้เราเห็นอย่างมากมายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นซอฟท์แวร์บริหารจัดการคลังสินค้า (WMS) ระบบการจัดเก็บและเบิกจ่ายแบบอัตโนมัติ (AS/RS) ระบบการจัดเรียงสินค้าบนพาเลทแบบอัตโนมัติ (Automated Palletizer) ยานพาหนะแบบไร้คนขับเพื่อเคลื่อนย้ายลำเลียง (AGV/AMR) ชั้นจัดเก็บแบบกึ่งอัตโนมัติโดยอาศัยยานไร้คนขับ (Shuttle Rack System) ไปจนถึงชั้นจัดเก็บแบบอัตโนมัติโดยอาศัยยานไร้คนขับ 4 ทิศทาง (4-Way Shuttle System) ดังนั้น จะเห็นถึงแนวโน้มของการสร้างนวัตกรรมเพื่อทดแทนการใช้แรงงานคน โดยมีการประมวลผลด้วยตัวเองแล้วตัดสินใจเพื่อทำงานภายใต้เงื่อนไขที่เรากำหนดไว้ล่วงหน้า (Criteria Setting) หรือภายใต้วิธีที่เครื่องจักรสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเองจากรูปแบบการทำงานที่ซ้ำๆ (Machine Learning) เช่น การกำหนดตำแหน่งจัดเก็บทั้งหมดของคลังสินค้าเอาไว้แล้ว แต่กำหนดห้ามไม่ให้สินค้าบางรายการที่ต้องหลีกเลี่ยงการโดนแสงโดยตรงอยู่ชั้นบนสุด หรือสินค้าที่มีขนาดใหญ่ถูกจัดเก็บไว้ในบางช่องที่เตรียมไว้เท่านั้น เป็นต้น

โดรน (Drone) หรืออากาศยานไร้คนขับ เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เราคุ้นชินจากการเห็นการนำมาประยุกต์ใช้ทางการเกษตรเพื่อพ่นยาฆ่าแมลงในแปลงพืช หรือใช้ทางการทหารเพื่อสอดแนมหรือทิ้งบอมบ์ หรือใช้เพื่อการสำรวจพื้นที่ภูมิประเทศ หรือใช้เพื่อการติดตามค้นหา เป็นต้น เมื่อมีการเริ่มนำโดรนมาประยุกต์ใช้ในคลังสินค้า งานแรกและคงเป็นงานเดียว ณ ขณะนี้ที่คาดหวังว่าโดรนจะสามารถทำหน้าที่ได้ดีคือการตรวจนับสต๊อคในคลังสินค้า

ก่อนอื่น อยากจะชักชวนให้เรามาทำความเข้าใจก่อนในการตรวจนับสต๊อคในคลังเกิดขึ้นในจังหวะไหนบ้าง ลองมาดูในแผนภาพข้างล่างนี้กันครับ

เริ่มจากปริมาณงานที่มากที่สุดของการตรวจนับสต๊อคคือการตรวจนับ 100% (นับทุกรายการทั้งคลังในคราวเดียวกัน) ซึ่งมักจะทำในช่วง 3-4 วันสุดท้ายของเดือนธันวาคม ซึ่งต้องระดมกำลังพลจากทั้งบริษัทมาช่วยกันทำภาระกิจให้ลุล่วง ส่วนการตรวจนับที่น้อยกว่า 100% อาจจะเกิดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท บางแห่งทำการตรวจนับทุกวัน (Cycle Count) แต่จำนวนรายการไม่ได้มากนัก หรือมีการตรวจนับตามเงื่อนไขที่แต่ละบริษัทกำหนด เช่น ในรุ่งเช้าของวันทำการถัดไป จะลงมือนับสต๊อคเฉพาะรายการที่มีการเบิกจ่ายในวันทำการก่อนหน้า หรือบางบริษัทยกยอดไปสุ่มนับ 1% หรือ X% ร่วมกับแผนกบัญชีตอนทุกๆสิ้นเดือน หรือทำเฉพาะตอนที่มีข้อสงสัยว่าอาจจะเกิดความผิดพลาดของการเบิกจ่ายสินค้าบางรายการ เป็นต้น

เมื่อพิจารณาจากลักษณะงานของการตรวจนับสต๊อคแล้ว บทบาทของโดรนควรจะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระงานลักษณะไหนที่เหมาะสมที่สุด? สิ่งที่ควรคำนึงถึงเมื่อต้องนำโดรน (ถือเสมือนว่าคือพนักงานตรวจนับสต๊อคคนหนึ่ง) เข้ามาทำงานในคลังสินค้ามีหลายปัจจัยดังนี้

  1. สภาพแวดล้อมขณะที่โดรนกำลังปฏิบัติงาน เช่น โดรนสามารถทำงานร่วมกับพนักงานคนอื่นในเวลาทำการได้หรือไม่? คำตอบคือเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เป็นอุปสรรคกองใหญ่เพราะเซ็นเซอร์ของโดรนสามารถตรวจจับวัตถุได้ในขณะที่คนขับรถ MHE ทั้งหลายจะคอยระแวดระวังโดรนที่บินอยู่ข้างบนหรือไม่ ดังนั้น ถ้าโดรนปฏิบัติงานนอกเวลาทำการจะสะดวกที่สุด หรือถ้าจะให้โดรนทำงานในเวลาทำการ จำเป็นต้องมีการบล็อกพื้นที่ที่โดรนกำลังปฏิบัติงานเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุขึ้น
  2. อุปกรณ์พื้นฐานที่โดรนต้องนำติดไปด้วยคือกล้องเพื่อบันทึกวีดิโอแล้วนำมาตัดเป็นภาพหรือจะถ่ายภาพนิ่งแบบ Snap Shot แล้วใช้เทคโนโลยี Image Processing เพื่อนำภาพออกมาคัดแยกออกเป็นส่วนๆแล้วเลือกเอาเฉพาะในส่วนที่ต้องการนำมาใช้ในการประมวลผล เช่น รูปทรงเค้าโครงของสินค้า รหัสสินค้า บาร์โค้ดของสินค้า เป็นต้น เพื่อนำมาบ่งชี้ความเป็นสินค้าเฉพาะรายการแต่ประเด็นคือภาพที่ได้มาจะเอามาเทียบเคียงกับฐานข้อมูลที่มีอย่างไรเพื่อบ่งชี้ว่าภาพนั้นคือสินค้าอะไร เป็นความท้าทายที่ผู้นำโดรนมาใช้นับสต๊อคจะต้องหาคำตอบกันต่อไปเพราะคำตอบที่ได้จะต้องให้ผลลัพธ์ที่มีความแม่นยำ ถ้าบอก SKU ไม่ตรงนั่นหมายถึงการติดกระดุมเม็ดแรกผิดทันที
  3. การจัดเก็บสินค้าในคลังให้ความสำคัญกับตำแหน่งจัดเก็บหรือโลเคชั่น (Bin Location) เป็นอย่างมาก ดังนั้น สินค้า SKU เดียวกันอาจจะถูกจัดเก็บอยู่ที่หลายโลเคชั่น เมื่อโดรนบินผ่านเพื่อบันทึกวีดิโอหรือภาพนิ่งจำเป็นต้องบันทึกตำแหน่งจัดเก็บนั้นมาด้วยเพื่อนำไปเทียบกับฐานข้อมูลในระบบว่าสินค้า SKU นั้นวางอยู่ที่โลเคชั่นอะไร กรณีที่ชั้นจัดเก็บนั้นไม่มีการบ่งชี้โลเคชั่นด้วยบาร์โค้ดหรือตัวเลขโลเคชั่น มันเป็นเรื่องยากมากที่จะอาศัยโดรนในการระบุพิกัด แกน X แกน Y และแกน Z เพื่อระบุตำแหน่ง ยกเว้นว่าการระบุพิกัดต้องเก็บข้อมูลเอาไว้ล่วงหน้าก่อนนี้แล้วซึ่งเป็นงานช้างเลยทีเดียวเหมือนการสร้างผังคลังสินค้าเสมือน (Virtual Layout) เอาไว้ในโดรนใช้งาน แต่ถ้าชั้นจัดเก็บนั้นมีการบ่งชี้โลเคชั่นด้วยบาร์โค้ดหรือตัวเลขโลเคชั่นอยู่ โดรนต้องบันทึกวีดิโอหรือภาพนิ่งของโลเคชั่นมาด้วยในขณะที่ต้องเก็บความเป็นกายภาพของสินค้า SKU นั้นมาด้วยในเวลาเดียวกัน
  4. โดรนจะนับจำนวนของสินค้าแต่ละ SKU อย่างไรให้มีความแม่นยำที่สุด? แน่นอนว่าสินค้าแต่ละ SKU ที่ถูกจัดวางในชั้นจัดเก็บจะมีรูปแบบการจัดเรียง (Stacking Pattern) ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ โดรนจะบันทึกได้เฉพาะเค้าโครงทางกายภาพแค่ 2 มิติ คือกว้างและยาวเท่านั้น ส่วนความลึกคงจะเป็นไปได้ยากมากเพราะว่ามีสินค้าจำนวนมากวางอยู่ติดๆกันในชั้นจัดเก็บ อีกประเด็นหนึ่งคือสินค้า 1 SKU อาจจะมีหน่วยจัดเก็บได้หลายระดับ เช่น สินค้า 1 กล่องมี 20 ชิ้นบรรจุอยู่ในข้างในกล่อง แล้วถูกจัดวาง Ti 10 x Hi 4 บนพาเลท (40 กล่องต่อพาเลท) เป็นต้น นั่นหมายถึงสินค้าเต็มพาเลท (Full Pallet) จะมี 40 กล่อง (หรือ 800 ชิ้น) แต่ถ้าสินค้าที่โดรนกำลังตรวจนับอยู่มีจำนวนไม่เต็มพาเลทแล้วจะต้องมีการนำภาพถ่ายที่ได้มาประมวลผลแล้วคำนวณออกมาว่าหน้าตาแบบนี้จะนับเป็นกี่กล่อง

        5. ถ้าสินค้าแต่ละ SKU มีรูปทรงที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดวางหรือหีบห่อที่ห่อหุ้มสินค้าอยู่ภายนอก เช่น มอเตอร์ไฟฟ้าวางอยู่ในลังไม้ สินค้าที่มีการจัดวางแบบไม่เป็นรูปทรงเดียวกันในทุกครั้ง เป็นต้น การประมวลผลเพื่อเทียบเคียงภาพที่บันทึกมาได้กับภาพในฐานข้อมูลของสินค้า SKU นั้นๆ เราอาจจะต้องกำหนดให้มีการยอมรับว่าสินค้านั้นเป็นรายการเดียวกันที่เปอร์เซ็นต์ของความแม่นยำ (Accuracy) ในระดับที่ต่ำกว่าสินค้าที่มีรูปทรงชัดเจน เช่น กล่องหรือหีบ เป็นต้น เพราะว่า บรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่รับเข้ามาในแต่ละครั้งถึงเป็น SKU เดียวกันก็ตาม อาจจะใกล้เคียงกันแต่ไม่ได้มีความเหมือนกัน

      6. การส่งข้อมูลที่บันทึกจากโดรนกลับไปยังเซริ์ฟเวอร์เพื่อนำไปประมวลผลนั้นจะมีอุปสรรคอันเนื่องจากสภาพแวดล้อมหรือไม่? เป็นการส่งแบบเรียลไทม์หรือจะเก็บข้อมูลเอาไว้ก่อนแล้วไปถ่ายโอนข้อมูลเมื่อโดรนบินกลับไปเข้าที่สถานีฐาน? คลังสินค้ามักจะมีชั้นจัดเก็บที่เป็นแร็คทำจากเหล็กพับขึ้นรูป ดังนั้น ถ้ามีการส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ผ่านสัญญาน WIFI หรือรูปแบบอื่นก็ตาม การลดทอนหรือการเบี่ยงเบนของสัญญานเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา

     7. สุดท้ายที่เป็นเรื่องสำคัญสุดคือความคุ้มค่าของการลงทุนในการนำโดรนมาตรวจนับสต๊อค แน่นอนว่าการลงทุนไม่ใช่หลักแสนแน่นอน อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อ 1 ระบบ ดังนั้น การเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจลงทุนในเชิงเศรษฐศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เกิดความคุ้มค่า อาจต้องพิจารณาถึงเรื่องอื่นประกอบกันในการนำโดรนมาใช้งาน เช่น การทำงานบนพื้นสูงของพนักงานอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น อนึ่ง การใช้โดรนเพื่อการตรวจนับสต๊อคแบบ 100% แค่ปีละ 1 ครั้งจะไม่เกิดความคุ้มค่าแน่นอน จึงจำเป็นต้องเพิ่มความถี่ของการใช้งาน เช่น การตรวจนับสต๊อคแบบทุกวัน (Cycle Count) หรือการใช้ประโยชน์ของโดรนเพื่อตรวจการณ์และเฝ้าระวังการเกิดเหตุเพลิงไหม้หรือการถูกบุกรุกช่วงนอกเวลาทำการ เป็นต้น

       กล่าวโดยสรุป การนำโดรนมาตรวจนับสต๊อคนั้นนับเป็นทั้งโอกาสของการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับงานคลังสินค้าและเป็นความท้าทายที่จะออกแบบโซลูชั่นการทำงานอย่างไรภายใต้ 7 ประเด็นที่กล่าวข้างต้นที่จะปิดจุดอ่อนของการนำโดรนมาใช้งานเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการให้ได้มากที่สุด

 

 

01 กรกฎาคม 2567

ผู้ชม 655 ครั้ง

Engine by shopup.com