PAT: Stepping up to a world class port
PAT: Stepping up to a world class port
PAT: Stepping up to a world class port
กทท. มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก
พร้อมการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ
การท่าเรือฯ เร่งแผนพัฒนาศักยภาพเต็มขั้น เดินหน้าพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ พัฒนาจุดเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งและรองรับการขยายตัวทางเศษฐกิจในอนาคต เน้นนโยบาย 3T มุ่งสู่การเป็นท่าเรือชั้นนำของโลก
จากวิสัยทัศน์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย "มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก พร้อมการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573" ที่ผ่านมาการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ และสนับสนุนการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) โดยเฉพาะการใช้การขนส่งทางราง และทางน้ำ ซึ่งเป็นรูปแบบการขนส่งที่ประหยัดพลังงาน รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายภายในประเทศที่เชื่อมโยงไปสู่ประตูการค้าระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า กทท. มีนโยบายในการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) ในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ Smart City ที่จะเป็นการส่งเสริมด้านการบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สายเรือ ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ กรมศุลกากร ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า พัฒนาระบบการบริหารจัดการท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) และระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยบริหารเวลารถบรรทุกสินค้าเข้าออก ทลฉ. (Truck Queue) เป็นต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาระบบท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port System) ส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลท่าเรืออัจฉริยะให้มีศักยภาพ เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการตู้คอนเทนเนอร์ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ แก้ปัญหาการจราจร ลดมลภาวะและปัญหาสิ่งแวดล้อม เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนโดยรอบ ทลฉ.
โดยระบบดังกล่าวจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลการขนส่งหลากหลายรูปแบบ ทั้งทางถนน ทางเรือและทางรางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สายเรือ ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ ผู้ประกอบการรถขนส่งสินค้า ผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ Smart Port Traffic (ระบบจัดการข้อมูลการจราจร) Smart Port EDI (ระบบเชื่อมต่อ Big Dataจากระบบต่างๆ) Smart Port Payment (ระบบชำระเงินแบบ QR Code) เป็นต้น
“การเป็นท่าเรือชั้นนำระดับโลก คือ world class นั้น เราต้องยกระดับการท่าเรือให้เป็น Port City ซึ่งองค์ประกอบสำคัญคือการยกระดับให้ท่าเรือเป็น smart port คือ เป็นท่าเรือที่มีประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์ในการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น สามารถให้บริการภาคธุรกิจด้วยความรวดเร็ว มีความคล่องตัว เพื่อก้าวสู่การเป็นท่าเรือที่มีขีดความสามารถ มีสมรรถนะสูง เพื่อก้าวทันกับการแข่งขันในอุตสาหกรรมการท่าเรือที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว”.
เน้นนโยบาย 3T มุ่งสู่การเป็นท่าเรือชั้นนำของโลก
การท่าเรือแห่งประเทศไทย มีบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจ ในฐานะเป็นประตูการค้าหลักและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการให้บริการด้านโลจิสติกส์และบริหารจัดการท่าเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การท่าเรือแห่งประเทศไทย จึงมุ่งเน้นนโยบายพัฒนา 3T คือ 1. การลดปัญหาการจราจรติดขัด (Traffic) ในท่าเรือ 2. การสนับสนุนธุรกิจการขนส่งสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) 3. สินค้าผ่านแดน (Transit) เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์ทั้งภายในและต่างประเทศ ในการขนส่งสินค้าเชื่อมจากท่าเรือไทย ผ่านระบบขนส่งของไทยไปถึงเพื่อนบ้านและจีนตอนใต้ได้
“การขนส่งสินค้าผ่านแดน (Transit) เป็นการขนส่งสินค้าที่แทนที่จะใช้ในประเทศ เราก็ส่งออกผ่านบ้านไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน transit เกิดขึ้นก็จะเกิดธุรกรรมตั้งแต่การขนส่งมาทางบ้านเรา ขึ้นที่ท่าเรือ ผ่านกระบวนการโลจิสติกส์ ขนส่งจากทางน้ำ มาสู่ทางราง หรือทางถนน เพื่อที่จะเชื่อมโยงไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงหลากหลายรูปแบบ ที่เรียกว่า multi model transportation เกิดการเชื่อมโยง ทำให้ช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจโลจิสติกส์ใหม่ๆ ทำให้ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมหาศาล และผมก็เชื่อว่าจุดสองจุดนี้ทั้งตัว T เรื่อง traffic และT transshipment และ T transit จะยกให้ประเทศไทยโดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง เป็น gate way ที่สำคัญของเอเชีย” นายเกรียงไกร กล่าว
สำหรับโครงการต่างๆ ที่ยังสานต่ออีกหลายโครงการ ได้แก่ การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ การขับเคลื่อนพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในจังหวัดขอนแก่นและนครราชสีมา เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ การศึกษาโมเดล Super Port การร่วมมือกับท่าเรือเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการพัฒนา Land Bridge เชื่อมสองฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามันที่จังหวัดระนองและชุมพรให้เป็นรูปธรรม
เร่งพัฒนาโครงการสำคัญ เพื่อเสริมศักยภาพครบทุกมิติ
ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับโครงการเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลของภูมิภาคนั้น ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการขนส่งสินค้าภายในประเทศให้มากขึ้น เมื่อการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 แล้วเสร็จ ท่าเรือแหลมฉบัง จะมีวิสัยสามารถรองรับตู้สินค้าผ่านท่ารวมกันได้ 18 ล้านที.อี.ยู.ต่อปี และรองรับการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ 6 ล้านที.อี.ยู.ต่อปี
- โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator: SRTO) โครงการ SRTO จะทำให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนเป็นทางรางและทางน้ำ เพื่อเป็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ประหยัดพลังงาน ลดมลภาวะ ลดต้นทุนการขนส่ง คาดการณ์ว่าสัดส่วนในการขนส่งตู้สินค้าทางบกมาสู่ทางรางที่ ทลฉ. จะมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ 2 ล้าน ที.อี.ยู. ต่อปี จะทำให้สัดส่วนในการขนส่งตู้สินค้าทางบกมาสู่ระบบการขนส่งทางรางที่ ทลฉ. เพิ่มขึ้นจากเดิม 7 % มาเป็น 15% ในอนาคต
นายเกรียงไกร กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณสัดส่วนการขนส่งทางรางขึ้นเป็นร้อยละ 30 และเพิ่มระบบการจัดการขนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) และเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ และเป็นการสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกทางหนึ่ง ทำให้สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าที่จะเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าวิสัยสามารถในปัจจุบัน เมื่อการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 แล้วเสร็จ ท่าเรือแหลมฉบัง จะมีวิสัยสามารถรองรับตู้สินค้าผ่านท่ารวมกันได้ 18 ล้านที.อี.ยู.ต่อปี และรองรับการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ 6 ล้านที.อี.ยู.ต่อปี
ยกระดับกระบวนการทำงานมุ่งสู่ท่าเรือสีเขียว (Green Port)
กทท. มีเป้าหมายที่จะยกระดับกระบวนการทำงานเพื่อที่จะทำให้เป็นท่าเรือสีเขียว (Green Port) ควบคู่กับการยกระดับการให้บริการ การดำเนินงานให้มีมาตรฐานสากล เสริมสร้างนวัตกรรม การบริหารที่มีธรรมาภิบาล สร้างความนิยมและการยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อกิจการท่าเรือ สร้างการเติบโตด้วยคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายเกรียงไกร กล่าวว่า การท่าเรือฯ นอกจากจะมุ่งพัฒนาให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัย และ Hi-Technology แล้ว ต้องเร่งพัฒนาสู่ท่าเรือสีเขียว หรือ Green Port การมุ่งสู่ท่าเรือพาณิชย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ทดแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิง เพื่อลดมลพิษในบริเวณท่าเรือ หรือลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่า แก้ไขปัญหามลพิษ ลดปัญหาการจราจรและภาวะผลกระทบโดยรอบของการท่าเรือฯ สร้างการยอมรับของชุมชนและสังคม
เพราะฉะนั้น smart port และ green port จึงจะตอบโจทย์วิสัยทัศน์ในสิ่งที่เราเป็น คือ 1. การเป็นท่าเรือชั้นนำ คือ world class 2. เรื่อง excellent logistics คือการบริการเป็นเลิศ และ 3 คือเรื่องของการเป็น sustainable growth ซึ่ง Green port โดยมีเป้าหมายคือการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งจะสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals–SDGs ที่การที่ท่าเรือเราต้องยกระดับให้เป็น Green port ก็จะส่งเสริมในแง่ภาพรวมธุรกิจ เพื่อให้เป็นแต้มต่อให้ต่างประเทศมาบ้านเรา และก็สร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่เรียกว่าเศรษฐกิจสีเขียว ที่จะต่อยอดไปยังโรงงาน ภาคธุรกิจภาคอุตสาหกรรม เชื่อมโยงไปยังภาคพันธมิตร ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย
กทท.พัฒนาศักยภาพอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อช่วยเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาท่าเรือไปสู่ความเป็นท่าเรือสากลที่มีศักยภาพสูง พร้อมก้าวสู่การเป็นฮับการขนส่งและโลจิสติกส์อาเซียน ด้วยมาตรฐานระดับสากล…
08 กรกฎาคม 2566
ผู้ชม 1355 ครั้ง