Laem Chabang Port: The World Top Port for Seamless Linkage Logistics
Laem Chabang Port: The World Top Port for Seamless Linkage Logistics
Laem Chabang Port: The World Top Port for Seamless Linkage Logistics
เรือเอก กานต์ เมนะรุจิ
รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง
ก้าวที่มั่นคงของผู้บริหารหลากความสามารถ
เรือเอก กานต์ เมนะรุจิ รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เล่าถึงเส้นทางสู่ความสำเร็จกว่า 31 ปี ที่ทำงานในองค์กรใหญ่อย่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย จากรองต้นกลเรือสันดอน การท่าเรือแห่งประเทศไทย ผ่านประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย ด้วยความสามารถและความมุ่งมั่นทุ่มเท จนก้าวสู่ตำแหน่งรองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง
“หลักการทำงานของผมคือ สิ่งสำคัญผมมองว่า การทำงานที่จะประสบความสำเร็จคือการทำงานที่มีปฏิสัมพันธ์กับส่วนต่างๆ การบริหารจัดการเชิงบูรณาการร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการพูดคุยปัญหาร่วมกันให้มากที่สุด เพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติ เชื่อว่าจะเป็นแนวทางแก้ไขที่ดีที่สุด และทำให้เกิดการพัฒนา เกิดการบริหารจัดการที่เป็นรูปธรรม”
ก้าวย่างสู่ความสำเร็จ กว่า 31 ปี แห่งความมุ่งมั่นและทุ่มเท ผมได้เก็บเกี่ยวประสบการทำงานที่หลากหลาย มีโอกาสได้เข้าไปทำงานในหลายฝ่าย ทำให้ผมมีความรอบรู้และนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดในพัฒนาการทำงานในทุกฝ่าย ทำให้การทำงานประสบความสำเร็จ ซึ่งนับว่าเป็นความโชคดีของผมเป็นอย่างมาก ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ให้โอกาสผมเรียนรู้งานในหลายส่วนงาน จนก้าวสู่การทำงานในตำแหน่งรองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งการทำงานในตำแหน่งรองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบังต้องใช้ความรู้ความสามารถ รวมทั้งต้องใช้การทำงานแบบบูรณาการร่วมกันกับหลายฝ่าย เพื่อเป้าหมายคือการก้าวสู่การ "เป็นท่าเรือชั้นนำระดับโลก เชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์สู่การค้าโลกแบบไร้รอยต่อ"
เส้นทางการทำงานก่อนจะก้าวสู่ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง
เรือเอก กานต์ เมนะรุจิ รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เล่าว่า ผมจบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ แล้วรับราชการอยู่ที่กองทัพเรือประมาณ 5 ปี โดยรับราชการ เรือลำแรกเป็นเรือหลวงอ่างทอง ซึ่งเป็นเรือสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วก็มาเป็นกำลังพลชุดรบเรือ เรือหลวงสุรินทร์สมัยนั้นเป็นเรือที่ต่อใหม่ในประเทศไทย ผมรับราชการจนกระทั่งปีที่ 4 เข้าโรงเรียนชั้นต้นของกองทัพเรือ
พอจบชั้นต้นผมก็ลาออกมาสมัครงานที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ในปี 2531 ในตำแหน่งแรกก็เป็นรองต้นกลเรือสันดอน 7 ปฏิบัติงานอยู่ที่เรือสันดอน 7 ประมาณ 16 ปี จนปีที่ 2 ผมได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต้นกลเรือ โดยทำงานตำแหน่งเป็นต้นกลเรืออยู่ที่เรือสันดอน 7 ประมาณ 15 ปี หลังจากนั้นได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นต้นกลฝ่ายใน อยู่ที่ท่าเรือคลองเตย และได้เลื่อนตำแหน่งจากต้นกลฝ่าย เป็นรองฝ่าย แล้วก็เป็นฝ่าย และเป็นหัวหน้าฝ่ายการร่องน้ำอยู่สายงานวิศวกรรมของการท่าเรือ
สั่งสมประสบการณ์ 3 สายงาน
จนกระทั่งได้รับการโยกย้ายอีกครั้ง ก็คือเป็นการโยกย้ายเปลี่ยนสายงานจากฝ่ายวิศวกรรม ย้ายมาอยู่ที่ฝ่ายบริหารงานสนับสนุนเป็นฝ่ายแรก โดยดูแลในเรื่องของสิ่งแวดล้อมความปลอดภัยรวมทั้งเรื่องของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเรื่องของดับเพลิง แล้วก็จัดซื้อจัดจ้าง อยู่ที่ท่าเรือกรุงเทพฯ หลังจากนั้นก็ย้ายฝ่ายมาอยู่ที่ฝ่ายเครื่องมือทุ่นแรงของท่าเรือกรุงเทพฯ หลังจากนั้น ในปี 2562 ผมก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ถือว่าเป็นความโชคดี เพราะการเปลี่ยนสายงานในครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนเป็นสายงานที่ 3 ที่ผมรับราชการอยู่ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย
ส่วนในเรื่องของระดับฝ่ายผมก็ดำรงตำแหน่งอยู่ 3 ฝ่าย โดยทำงานในฝ่ายวิศวกรรม และทำงานที่ท่าเรือกรุงเทพอีก 2 ฝ่าย ซึ่งการทำงานในแต่ละฝ่ายมีความแตกต่างกันพอสมควร ทำให้เราได้ทั้งพบปะผู้คน ได้ประสบการณ์จากเพื่อนร่วมงาน ได้ประสบการณ์จากงาน แล้วก็ได้ประสบการณ์จากหลายๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในแต่ละส่วนงาน ซึ่งมีความแตกต่างกัน อย่างฝ่ายการร่องน้ำ ก็จะดูในเรื่องของงานขุดลอกหลักๆ ดูแลร่องเจ้าพระยา ทำให้มีความรู้ในเรื่องของการขุดลอกร่องน้ำ ทำงานทางด้านเกี่ยวกับทางทะเลเป็นหลัก รวมทั้งงานทางวิชาชีพคืองานทางด้านเครื่องกล ทำให้เรามีประสบการณ์เกี่ยวกับงานด้านวิศวกรรม การซ่อมเครื่องยนต์ และทำให้รู้จักโครงสร้างของเรือที่จะเข้าซ่อมในอู่ต่างๆ
การทำงานที่หลากหลายปูทางสู่ความสำเร็จ
การทำงานที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ในฝ่ายแรกนั้น จะเน้นการทำงานที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งท่าเรือกรุงเทพฯ มีเครื่องมือจำนวนมากหลายร้อยตัว การจัดซื้อจัดจ้าง การดูคุณภาพและคุณสมบัติต่างๆ ของอุปกรณ์เครื่องมือ ทำให้ผมได้นำความรู้ตอนที่ทำอยู่ฝ่ายการร่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาวัสดุทั่วไป เช่น ประสิทธิภาพของยาง การที่ต้องใช้งานวัสดุเหล่านี้ ทำให้เราเข้าใจที่ข้อมูลทางเทคนิคทางวิศวกรรม
หลังจากนั้นก็ย้ายจากบริหารงานสนับสนุน มาอยู่ฝ่ายเครื่องมือทุ่นแรง การทำงานตรงนี้ก็ทำให้ได้รู้จักเครื่องมือ ซึ่งหากไม่ได้ทำงานตรงนี้ ก็จะได้รู้จักเครื่องมือน้อย แต่พอมาอยู่ฝ่ายซ่อมบำรุง โดยเครื่องมือทุ่นแรงหลักๆ คือซ่อมบำรุงเครื่องมือ อาทิ รถยกตู้หนัก รถยกตู้เปล่า Forklift ต่างๆ ปั้นจั่น เครน ซึ่งทำให้เรารู้จักเครื่องมือต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งได้มีโอกาสเป็นกรรมการในการตรวจรับเครื่องมือ ที่ล้วนเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อนำมาต่อยอดและพัฒนางานในด้านต่างๆ ต่อไป
เมื่อผมย้ายมาดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ในปี 2562 ทำให้เราต้องใช้องค์ความรู้ต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งต้องมีการพบปะพูดคุย แก้ปัญหาร่วมกันระหว่างท่าเรือกับผู้ประกอบการ ซึ่งต้องใช้การบริหารจัดการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การมองภาพของปัญหาการพูดคุยการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน การแชร์เหตุผลและความจำเป็นร่วมกันจึงเป็นแนวทางที่เราจะสรุปหาวิธีการที่เราจะบริหารจัดการร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืน โดยที่ไม่กระทบต่อชุมชนและจังหวัด
ความภาคภูมิใจบนเส้นทางการทำงานกว่า 31 ปี
ถามถึงผลงานแห่งความภาคภูมิใจบนเส้นทางกว่า 31 ปี ในการทำงานที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย เรือเอก กานต์ กล่าวว่า มันไม่มีว่าเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจที่สุด มีแต่สิ่งที่เราต้องทำอย่างต่อเนื่อง บางอย่างก็เป็นความสำเร็จของคนอื่นภายใต้การทำงานของเรา ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยท่า ผมได้ร่วมฝึกกับท่าเรือกรุงเทพฯ หลายปี จนมีอยู่ปีนึง มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติม คือ มีการฝึกในเรื่องของการระแวดระวังเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งผมได้เข้าร่วมฝึกด้วยตั้งแต่ปีแรก
จนกระทั่งปีที่ 2 ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการฝึก ที่เป็นรูปแบบที่มีเหตุผลสอดคล้องกับความเป็นจริง ทำให้ปีนั้น คุณหมอที่ดูแลการฝึก ได้รับรางวัล ถือว่าเป็น top ของการฝึกของประเทศไทย เพราะเราเป็นคนเสนอให้ฝึกในรูปแบบนั้น และในช่วงโควิดระบาด เราก็ได้นำรูปแบบนั้นมาใช้ จนทำให้คนประจำเรือแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย ซึ่งตรงนี้ต้องถือว่าเราวางระบบไว้ค่อนข้างดี มีองค์ความรู้ไปอบรมและเตรียมการในหลายๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี ทำให้ประเทศไทยได้รับความชื่นชมจากต่างประเทศเรื่องการป้องกันโควิด
แนวทางการบริหารงานแบบฉบับของ เรือเอก กานต์ เมนะรุจิ
ผมให้ความสำคัญกับการทำงานในรูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์กับส่วนต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการบริหารงานแบบประนีประนอม ซึ่งเราไม่ได้มีอำนาจในการที่จะควบคุมภาคเอกชน แต่ต้องใช้การบริหารจัดการเชิงบูรณาการร่วมกัน ซึ่งการทำงานในรูปแบบนี้ทำให้เกิดการพัฒนาแล้วก็เกิดการบริหารจัดการที่เป็นรูปธรรมมากกว่า
สุดท้าย เรือเอก กานต์ ได้ฝากแง่คิดให้คนทำงานว่า ทุกองค์กรล้วนมีวัฒนธรรมที่ต่างกัน แต่ต้องยอมรับว่าโลกมันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรบางอย่างมันไม่ค่อยสอดคล้องกับโลกในยุคปัจจุบัน ดังนั้น ควรเปิดใจรับกับการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ควรเปิดใจในการหาเหตุผลว่า สิ่งที่เราทำมีเหตุผลเพียงใด เหตุผลนั้นเป็นเหตุผลฝั่งแค่ตัวเราอย่างเดียว หรือว่ามีเหตุผลฝั่งองค์กร หรือมีเหตุผลต่อประเทศชาติหรือไม่ อยากให้เข้าใจถึงบริบทขององค์กร แล้วก็ปรับเปลี่ยนมุมมอง ปรับเปลี่ยนแนวความคิดให้ก้าวไปข้างหน้ากับองค์กร ไม่งั้นมันก็จะไปพัฒนาไม่ได้
16 มีนาคม 2566
ผู้ชม 306 ครั้ง